ความรู้ทางการแพทย์ของโรคสะเก็ดเงินยังไม่ที่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ เกิดการหนาตัวของชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดเป็นปื้นนูนแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ถ้าแกะหรือเกาจะทำให้สะเก็ดหนามากขึ้น โรคสะเก็ดเงิน พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั่วไป พบว่าคนผิวดำเป็นโรคนี้น้อยกว่าคนผิวขาว ชายและหญิงพบได้ในอัตราพอๆกัน พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในสองช่วงอายุ 16-25 ปี และ 55-65 ปี ร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยใหม่เป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แต่ถ้าเกิดเป็นโรคในเด็ก จะพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มากถึงร้อยละ 70
สาเหตุของโรค สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด
1. ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสะเก็ดเงินอย่างมาก จากการศึกษายีนที่เกี่ยวข้อง พบว่ายีนที่สำคัญที่สุดชื่อ psoriasis susceptibility 1 (PSORS1) ซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 6 โดยพบมากถึงร้อยละห้าสิบของผู้ป่วยทั้งหมด ล่าสุดพบยีนที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสะเก็ดเงินอีกชนิดหนึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 17 มีชื่อว่า runt-related transcription factor 1 (RUNX1)
2. จากการศึกษาพบว่าเซลล์ผิวหนังตรงบริเวณที่เป็นโรคมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ และเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังมาที่ผิวนอกในเวลาประมาณ 4 วัน ซึ่งในคนปกติจะใช้เวลาประมาณ 26 วัน ทำให้ผิวหนังเกิดการหนาตัวขึ้นเป็นปื้น
3. ในขณะเดียวกันเซลล์ผิวหนังขาดแรงยึดเหนี่ยวตามปกติ ทำให้สารเคอราตินบนชั้นนอกสุดของผิวหนังหลุดลอกออกเป็นแผ่นๆได้ง่าย
4. ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T cell ทำหน้าที่เพิ่มขึ้นที่ผิวหนังและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

อาการผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ผิวหนังส่วนศีรษะ เล็บ ผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ก้นกบ หน้าแข้ง รอยโรคบริเวณหนังศีรษะพบมากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด ผิวหนัง ตอนเริ่มกำเริบใหม่ๆ จะเป็นตุ่มแดง ขอบเขตชัดเจนและมีขุยสีขาวสีเงินอยู่ที่ผิว ต่อมาตุ่มจะค่อยๆขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่ๆ หนา และขุยสีขาวที่ผิวจะหนาตัวขึ้น เห็นเป็นเกล็ดสีเงิน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่าโรคเกล็ดเงิน หรือสะเก็ดเงิน

แนวทางในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาวและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และผลข้างเคียงจากยา โดยทั่วไปหลักการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยสามารถให้การรักษาได้ด้วยยาทา
1. ถ้าเป็นน้อย ๆ การใช้ยาทาก็เพียงพอ แต่พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การแกะเกา และแสงแดด ในปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้ ได้แก่ ยาทาพวกสเตียรอยด์ น้ำมันดิน สารพวกแอนทราลิน และวิตามินดี 3
2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียง ไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ถ้าเป็นมากๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องทานยาและรักษาโดยการให้อาบแสงอุลตราไวโอเล็ตร่วมด้วย
3. สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ แพทย์จะให้ผู้ป่วยสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน
4. สำหรับรอยโรคที่เล็บหรือรอยปื้นหนาที่ผิวหนังที่ดื้อต่อยาทา แพทย์อาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณรอยโรค
5. คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ควรทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดอาการผิวแห้ง ใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองของผิวหนังซึ่งจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด เพราะ โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ อาหารไม่มีผลต่อโรคนี้ การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้โรคกำเริบได้

สะเก็ดเงิน โรคกรรมพันธุ์ที่ใครๆ ก็ไม่อยากเป็น

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินควรดูแลตนเอง ดังนี้ ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนอนหลับพักผ่อนวันละ 6 – 8 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายประจำหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เครียด จะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ในปัจจุบันคาดว่าร้อยละ 2 ของประชากรไทยเป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยสามารถพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายในจำนวนเท่าๆ กัน ด้วยอาการของโรคสะเก็ดเงินที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ผื่นบริเวณหนังศีรษะลอกแห้ง ผิวหน้า หรือบริเวณนอกร่มผ้า จึงค่อนข้างส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในด้านการทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการเข้าพบปะผู้คนหรือการเข้าสังคม หรือบางกรณีผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อ รูปลักษณะข้อเกิดการผิดรูปหรือเสียรูปถาวร จนส่งผลให้ไม่สามารถทำงาน หรือดำเนินชีวิตประจำวันได้เท่าคนปกติ

โรคสะเก็ดเงินจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีอาการเป็นช่วงๆ แต่สามารถควบคุมอาการได้ ดังนั้นการวางแผนเพื่อการรักษาในระยะยาวและต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยแพทย์ฯ จะต้องวินิจฉัยจากชนิดของอาการของผู้ป่วย ความรุนแรง โดยผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินเกินร้อยละ 5 ของพื้นที่ผิวจะถือได้ว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับยาที่นอกเหนือจากยาทา ได้แก่ การฉายแสงหรือการอาบแสงแดดเทียมและการรับประทานยาหรือฉีดยาสำหรับโรคดังกล่าว แต่หากผู้ป่วยมีอาการไม่ถึงร้อยละ 5 ของพื้นที่ผิว โรคมักจะสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้เพียงยาทา

สำหรับผู้ป่วย โรคสะเก็ดเงิน การปฏิบัติตนเพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเคล็ดลับ 4 ประการในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีดังนี้
1. เข้าใจโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินอย่างชัดเจน เพื่อสามารถดูแลและรักษาตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป
2. ดูแลร่างกายและจิตใจอย่างเคร่งครัด ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่ายกายและจิตใจ
3. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ การแกะเกา การปล่อยให้ผิวหนังแห้งขุย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา
4. สังเกตและป้องกันตนเองจากภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น หากว่าเกิดอาการปวดบริเวณข้อใด ข้อหนึ่งในร่างกายจะต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษาจากโรคข้อเสื่อมอักเสบ ผู้ป่วยบางรายที่ปล่อยให้ตนเองอ้วนมากเกินไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนไข้ที่มีน้ำหนักปกติ

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงิน ถือเป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบในด้านการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัดและคนทั่วไป อาจยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างชัดเจน จนมองว่าเป็นโรคติดต่อและเกิดจากความสกปรก ซึ่งล้วนแต่สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเพิ่มมากขึ้น สถาบันโรคผิวหนังจึงร่วมกับสมาคมแพทย์ผิวหนัง เพื่อเริ่มดำเนินการทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรคสะเก็ดเงินระดับประเทศขึ้น โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถิติโรคสะเก็ดเงินทั่วประเทศ รวมไปถึงแนวทางในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน และแนวทางในการดูแลคนไข้โรคสะเก็ดเงินอย่างถูกวิธีซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินสามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมจากคนในสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยสะเก็ดเงิน